นโยบายการลงทุนของมัลดีฟส์


นโยบายการลงทุนของมัลดีฟส์

             ในปี 2554 มัลดีฟส์มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Purchasing Power Parity – PPP - วัดกันตามหลักความเท่าเทียมของอำนาจซื้อ) 2.754 พันล้านดอลลาร์ มีรายได้ต่อหัว 8400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 6.5[1]
             สภาพทางภูมิศาสตร์ของมัลดีฟส์ซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะหินปะการังและประกอบด้วยดินที่ด้อยคุณภาพ ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้ อย่างไรก็ตาม สภาพเป็นเกาะแก่งที่ประกอบไปด้วยชายหาดและสภาพแวดล้อมทางทะเลที่สวยงาม กลับทำให้ประเทศนี้เหมาะกับการประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก ดังนั้น เศรษฐกิจของประเทศจึงถูกขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยจากรายงานของอินเด็กซ์ มุนดี (Index Mundi) พบว่า รายได้จากการท่องเที่ยวของมัลดีฟส์คิดเป็นร้อยละ 28 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และคิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของยอดรายรับเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Receipts) ภาคการประมงถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับสองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้รายได้จากภาคเศรษฐกิจส่วนนี้จะเริ่มลดลงอย่างมากในปัจจุบันแล้วก็ตาม[2]
             นอกจากนี้ สภาพดังกล่าวยังทำให้เศรษฐกิจของมัลดีฟส์ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นอย่างมาก แม้แต่ทรัพยากรที่จะใช้ในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ก็ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังจะเห็นจากที่เงินภาษีของประเทศกว่าร้อยละ 90 ได้มาจากอากรขาเข้า (Import Duties) และภาษีเกี่ยวกับการท่องเที่ยว[3] ดังนั้น เศรษฐกิจของมัลดีฟส์จึงมีลักษณะค่อนข้างเปราะบางและอ่อนไหวต่อแรงกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากภายนอกเป็นอย่างมาก
             วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมัลดีฟส์เป็นอย่างมาก โดยทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและเงินลงทุนจากต่างประเทศลดลงอย่างมาก ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวรายจ่ายของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวกับเงินเดือนข้าราชการ เงินอุดหนุน และความต้องการทางสังคม เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) อย่างหนัก นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวยังทำให้ประเทศยังประสบปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างมากด้วย
             กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ได้อนุมัติเงินกู้ 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่มัลดีฟส์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เงินกู้จาก IMF กลับยิ่งทำให้มัลดีฟส์ยิ่งขาดดุลการชำระเงินมากยิ่งขึ้น โดยคิดเป็นร้อยละ 10.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2554 ด้วยเหตุนี้ IMF ได้ประกาศพักชำระหนี้แก่มัลดีฟส์ หลังจากที่ได้ชำระหนี้ไปแล้ว 2 งวด ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาได้กลับมาให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (Generalized System of Preferences - GSP) แก่ประเทศนี้อีกครั้งในปีเดียวกันด้วย 
                   ทัศนียภาพกรุงมาเล ซึ่งอยู่บนหมู่เกาะมาเล่เหนือ                                       ภาพเกาะในหมู่เกาะมาเล่ใต้ 
             นอกจากนี้ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวยังส่งผลให้รัฐบาลมัลดีฟส์ ต้องดำเนินมาตรการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ของรัฐ โดยได้ปฏิรูประบบภาษีอากร โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจบางประเภท เช่น การโอนกิจการสนามบินแห่งชาติในกรุงมาเลให้กับบริษัท GMR Malaysia Airport Holdings เข้ามาบริหารเป็นเวลา 25 ปี (2553) การขายหุ้นของบริษัท Maldives Water and Sanitation Company จำนวน 20 % ให้แก่บริษัท Hitachi Plant Technology จากญี่ปุ่น (2553) และการเสนอขายหุ้นไอพีโอของบริษัทดิรากู (Dhiraagu) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของประเทศ (2554)[4]
                                          สนามบินนานาชาติมาเล่                           ที่ทำการใหญ่บริษัทดิรากู
                                                                                       ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุด
                                                                                                                ของมัลดีฟส์
 
             รัฐบาลยังได้เริ่มแผนการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการด้านสุขภาพ การศึกษา การคมนาคม และที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องการที่จะร่วมทุนกับภาคเอกชนในกิจการด้านการประปา ระบบการระบายน้ำ ท่าเรือ ถนน และการไฟฟ้า อีกด้วย
             นอกจากนี้ รัฐบาลมัลดีฟส์ยังได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเกาะต่างๆ ของประเทศให้เป็นที่พักต่างอากาศ และมีการกระจายอำนาจการปกครองให้ท่องถิ่นและภาคเอกชนสามารถมีอำนาจจัดการตนเองมากยิ่งขึ้น เพื่อความรวดเร็วในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
การลงทุนในมัลดีฟส์
            ในการจัดอันดับประเทศที่เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจของธนาคารโลกในปี 2554 มัลดีฟส์ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 79 จากทั้งหมด 183 ประเทศ ซึ่งสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ด้วยกัน[5]
            รัฐบาลมัลดีฟส์มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจประเภทที่ (1) ใช้เงินทุนในระดับสูง (Capital Intensive) (2) เพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดเทคโนโลยี (3) แนะนำและฝึกฝนทักษะใหม่ๆ แก่แรงงานในประเทศ (4) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการลงทุนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงท่องเที่ยว ศิลปะศาสตร์ และวัฒนธรรม (Minister of Tourism, Arts and Culture) ในขณะที่การลงทุนในสาขาอื่นๆ จะต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ (Ministry of Economic Development)
การลงทุนในมัลดีฟส์มีสิทธิประโยชน์ดังนี้
1) ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ
2) ต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของได้ 100 %
3) มีกฏหมายประกันการลงทุน
4) มีข้อกฎหมายการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International arbitration of disputes)
5) ไม่มีข้อจำกัดด้านการส่งเงินกลับประเทศ
6) ไม่มีข้อจำกัดด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
7) อนุญาติให้มีการเช่าที่ดินระยะยาวสำหรับโครงการขนาดใหญ่
8) ไม่มีข้อจำกัดในด้านการใช้แรงงานต่างชาติที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำงานด้านเทคนิคและด้านบริหาร
ช่องทางการลงทุนในมัลดีฟส์มีอยู่ 3 ช่องทางด้วยกัน ได้แก่
1) การร่วมลงทุนกับภาครัฐใน 27 สาขาต่อไปนี้ ได้แก่ ธุรกิจที่ปรึกษาด้านการเงิน (Financial consultancy) ธุรกิจให้บริการสอบบัญชี (Auditing services) ธุรกิจประกันภัย (Insurance services) ธุรกิจกิฬาทางน้ำ (Water sports activities) ธุรกิจดำน้ำอาชีพ (Commercial diving) ธุรกิจให้บริการขนส่งทางอากาศภายในประเทศ (Domestic air transport services) ธุรกิจให้บริการจัดเลี้ยงแก่ผู้โดยสารของสายการบิน (Catering services for airlines) ธุรกิจเกมตกปลา (Big game fishing) ธุรกิจให้บริการสนับสนุนด้านเทคนิค (Technical support services) อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป (Garment manufacturing) อุตสาหกรรมผลิตและจัดจำหน่ายน้ำจืดบรรจุภาชนะ (Water bottling and distribution) ธุรกิจให้บริการที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ งานบรรณาธิกร การโฆษณา และการแปล (Public relations consultancy, editorial, advertising and translation services) อุตสาหกรรมบรรจุและจัดจำหน่ายปูนซีเมนต์ (Cement packing and distribution) ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายให้กับสายการบินและบริษัทเดินเรือ (General sales agency, passenger sales agency and cargo sales agency for airlines and shipping lines) ธุรกิจสปา (Spa operation and management) โรงบำบัดน้ำเสีย (Water treatment plant) อุตสาหกรรมต่อเรือเล็ก (Boat building) ธุรกิจให้บริการพัฒนาและสนับสนุนซอฟต์แวร์ (Software development and related support services) ธุรกิจให้บริการสัญญาเช่าการเงิน (Financial leasing services) อุตสาหกรรมแปรรูปปลา (Fish processing) ธุรกิจให้บริการด้านการแพทย์แผนโบราณ (Traditional medical services) ธุรกิจถ่ายภาพและถ่ายวิดีโอใต้น้ำ (Underwater photography and videography) อุตสาหกรรมผลิตน้ำแข็งก้อน (Block ice making) ธุรกิจภัตตาคารอาหารตำรับเดียว (Specialty restaurants) ธุรกิจบริการประเมินค่ากิจการ (Business valuation services) ธุรกิจโรงเรียนการบิน (Flying school) และธุรกิจให้บริการวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT system integration and implementation services) โดยรัฐบาลมัลดีฟส์จะใช้เวลาเพียง 10 วันเท่านั้นในการอนุมัติโครงการลงทุนใน 27 สาขาเหล่านี้
2) การร่วมลงทุนกับรัฐบาลมัลดีฟส์ในสาขาอื่นๆ ที่ไม่รวมอยู่ใน 27 สาขาข้างต้น ซึ่งกรณีนี้ รัฐบาลจะใช้เวลา 30 วันทำการ ในการพิจารณาอนุมัติ
3) การลงทุนโดยไม่ร่วมทุนกับรัฐมัลดีฟส์ ซึ่งจะใช้เวลา 30 วันทำการในพิจารณาการอนุมัติ
สาขาการลงทุนที่ต่างชาติมีศักยภาพ ได้แก่
                      โรงแรมดุสิตธานีมัลดีฟส์ของไทย                                      อนันตรา คิฮาวาห์ วิลลาส์ มัลดีฟส์ ของไทย 
1) การท่องเที่ยว (การสร้างโรงแรม ที่พักต่างอากาศ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่จะมารองรับกิจการดังกล่าว) โดยกฎหมายการท่องเที่ยวปี 2553 ของมัลดีฟส์อนุญาติให้ต่างชาติเช่าเกาะเพื่อสร้างที่พักต่างอากาศเป็นเวลานานถึง 99 ปี
2) การประมงแบบเพิ่มมูลค่า (Value – added fisheries) ซึ่งประกอบด้วยการแปรรูปปลา การทำปลากระป๋อง การเพาะเลี้ยงปลาทูน่า การทำระบบห้องเย็น (Cold storage) และการเกษตรใต้น้ำ (Aquaculture)
3) ภาคการเงินการธนาคาร การบัญชี และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารองค์กร (Management Consulting)
4) การคมนาคมและขนส่ง โดยเฉพาะทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งจะเชื่อมโยงเกาะต่างๆ ของประเทศ
5) โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ
6) การผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่นำมาใช้ใหม่ได้ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวภาพ
           หากการลงทุนมีมูลค่าน้อยกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัญญาการลงทุน (Investment Agreement) ดังกล่าวจะมีระยะเวลาเริ่มต้นอยู่ระหว่าง 5 ถึง 10 ปี โดยเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว นักลงทุนสามารถต่อสัญญาใหม่ได้ และสำหรับการลงทุนที่มีมูลค่ามากกว่านั้น นักลงทุนสามารถเจรจาต่อรองยืดระยะเวลาของสัญญาได้
           การจดทะเบียนบริษัทในมัลดีฟส์สามารถทำได้สองรูปแบบ คือ (1) บริษัทเอกชนจำกัด (Private company limited) ซึ่งประกอบด้วยหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 คน โดยมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2,000 รูฟิยา[6] (2) บริษัทมหาชน (Public company limited) ซึ่งประกอบด้วยหุ้นส่วนมากกว่า 10 คนขึ้นไป และมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 1 ล้านรูฟิยา นอกจากนี้ กฎหมายบริษัทของมัดดีฟยังกำหนดให้มีการจ่ายค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทตามจำนวนทุนจดทะเบียน โดยหากทุนจดทะเบียนขั้นต่ำไม่เกิน 10,000 รูฟิยา ก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 1,000 รูฟิยา และหากทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสูงกว่านั้น ค่าธรรมเนียมก็จะคิดในลักษณะเป็นขั้นบันได โดยทุนจดทะเบียนยิ่งมาก อัตราค่าธรรมเนียมต่อหน่วย (หน่วยละ 4,000 รูฟิยา) ก็จะถูกลง[7] 
          โครงการที่คอนโดมิเนียม "คอรัลวิลล์ (Coral Ville)"                     โรงงานแปรรูปปลาทูนาลอยน้ำของบริษัทมารีน มัลดีฟส์ 
        บนเกาะฮุลฮูมาเล (Hulhumale) ของมัลดีฟส์                                       
โปรดักส์ จำกัด (Marine Maldives Products 
           ของบริษัทพฤกษา รีลเอสเตท จำกัด (มหาชน)                                     (Pvt.Ltd) ซึ่งเป็นสาขาบริษัทเอ็มเอ็มพี 
                         จากประเทศไทย                                                            อินเตอร์เนชันนัล จำกัด (MMP International
                                                                                                                     Co, Ltd.)
 จากประเทศไทย 
          ธุรกิจที่มีชาวต่างชาติถือหุ้นตั้งแต่ 51 % ขึ้นไป จะต้องจ่ายค่าสิทธิ (Royalty fees) ให้กับรัฐบาลมัลดีฟส์ปีละ 3 % ของรายได้ หรือ 15 % ของกำไรสุทธิ ในขณะที่ธุรกิจที่มีชาวมัลดีฟถือหุ้นเกินกว่า 51 % ขึ้นไป จะต้องจ่ายค่าสิทธิปีละ 1.5 % ของรายได้ หรือ 7.5 % ของกำไรสุทธิ นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี (Annual fee) เป็นเงินจำนวน 2,000 รูฟิยา สำหรับบริษัทเอกชนจำกัด และ 10,000 รูฟิยา สำหรับบริษัทมหาชน รวมทั้งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการบริหาร (Administrative fee) จำนวน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะจ่ายทันทีตอนจดทะเบียนบริษัท ตอนที่มีการต่อสัญญาการจดทะเบียนฯ และตอนที่มีการแก้ไขสัญญาดังกล่าว[8]
          ภาษีสินค้าและบริการ (Good and Service Tax – GST) และภาษีสินค้าและบริการในภาคการท่องเที่ยว (Tourism Goods and Service Tax – TGST) ของมัลดีฟส์ จะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 6 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2555 โดยหลังจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นไป ภาษีประเภทที่สองจะถูกปรับเป็นร้อยละ 8 ในขณะที่ภาษีประเภทแรกจะยังคงเดิม[9]
         สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Profit Tax) กรมสรรพากรของมัลดีฟส์จะเรียกเก็บจากธุรกิจที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 500,000 รูฟิยา ต่อปี ในอัตราร้อยละ 15 และสำหรับกิจการธนาคารนั้น จะมีอัตราภาษีเรียกเก็บต่างห่าง คือร้อยละ 25 นอกจากนี้ ยังมีการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย(Withholding tax) ร้อยละ 10 จากการใช้บริการจากบุคคลที่สามซึ่งไม่ได้มีถิ่นฐานอยู่ในมัลดีฟส์ ในสาขาต่อไปนี้อีกด้วย ได้แก่ ค่าใช้จ่ายจากการใช้ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา ค่าใช้จ่ายจากการขอใช้ซอฟต์แวร์ ค่าบริหารจัดการ ค่าจ้างผู้ให้บริการด้านความบันเทิงสาธารณะ (Public entertainer) ค่าลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายภาพยนต์ต่างประเทศ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายด้านเทคนิค[10]
             Centara Grand Island Resort & Spa Maldives             สนามบินนานาชาติกัน (Gan International Airport)
                     บนเกาะอาลิฟู (Alifu Atoll)  เป็นกิจการ                        บนเกาะอััดดู (Addu Atoll) ของมัลดีฟส์ มีบริษัท                                
ในเครือเซนทาราจากประเทศไทย                  Lagan Construction จากสหราชอาณาจักรเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง                                                                                     
          ข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถดำเนินการฟ้องร้องในศาลในประเทศได้ สำหรับข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุนที่มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไป จะต้องดำเนินการฟ้องร้องกับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International arbitration)
          จากที่กล่าวมาข้างต้น จะพบว่ามัลดีฟส์เป็นประเทศทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจประเทศหนึ่ง เนื่องจากมีนโยบายเปิดกว้างและจูงใจแก่นักลงทุนต่างประเทศ อีกทั้งยังด้วยลักษณะความสภาพแวดล้อมที่ทำให้ประเทศต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น